1. แรงงานนอกระบบอาจเป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดังต่อไปนี้
ก. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีสถานภาพเป็นนายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ โดยอาจมีการว่าจ้างคนงาน 2-3 คน หรือไม่มี
ข. ประกอบอาชีพอิสระ (Self employed) โดยไม่มีการว่าจ้างคนงานแต่ต้องทำเอง หรือมีสมาชิกในครัวเรือนช่วยงานในลักษณะเป็นแรงงานช่วยงานในครอบครัวโดยไม่มีค่าจ้าง
ค. เป็นคนงานหรือลูกจ้างของกลุ่มแรก
2. แรงงานประเภทขับแท็กซี่ก็ดี / ขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างก็ดี เก็บของเก่าขายหรือคุ้ยขยะขาย / รับงานไปทำที่บ้าน / พ่อค้าหาบเร่ แรงงานเกษตรภายใต้พันธสัญญา เหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มไหน จัดอยู่ในกลุ่ม ก. หรือ ข.
3. ทำไมจึงถือเป็นแรงงานนอกระบบ :
ยังไม่มีคำจำกัดความแน่นอนว่าแรงงานนอกระบบคือใคร / อย่างไร แต่มีการวางกรอบยึดแนวทางกว้าง ๆ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ต่างๆ อาทิ การอธิบายแรงงานนอกระบบโดยอาศัยเงินทุน หากเป็นแรงงานนอกระบบมักจะลงทุนน้อย / ไม่ต้องใช้เงินมาก / มักหยิบยืมกันเอง / เพราะเข้าถึงสินเชื่อ ประเภทที่ชาวบ้านหรือคนที่จะไปทำกับธนาคารได้ยาก
– อธิบายโดยอาศัยขนาดของธุรกิจ แรงงานนอกระบบจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ๆ สถานที่ขายไม่แน่นอน เช่น หาบเร่ หรือตั้งขายริมทางเข้า โดยจ่ายค่าเช่าหรือไม่จ่าย
– อธิบายโดยอาศัยจำนวนคนงานหรือลูกจ้าง ซึ่งมักเป็นสถานประกอบการขนาดเล็กว่าจ้างเพียง 2-3 คน ลักลอบทำธุรกิจอาศัยในซอกซอย หรือตึกแถว 3-4 ชั้น มักหลีกเลี่ยงกฎหมาย เช่น โดยไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคม เป็นต้น
4. แตกต่างจากแรงงานในระบบอย่างไร
แรงงานนอกระบบอาจเป็นคนงาน หรือลูกจ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพอิสระเสมอไป หากกรณีเป็นลูกจ้างก็มักจะทำงานในสถานประกอบการขนาดเล็ก มีสวัสดิการไม่ดี นายจ้างไม่จ่ายตรงเวลา และหลีกเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งกลุ่มลูกจ้างเหล่านี้ต่างไปจากลูกจ้างในสถานประกอบการที่อยู่ในระบบ ซึ่งเป็นขนาดกลางหรือใหญ่ แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นนายของตัวเอง และจะถูกจัดอยู่ในวงของแรงงานนอกระบบ ก็ได้แก่กลุ่มที่กล่าวไว้ในข้อ 2 เช่น คนขับแท็กซี่ คนคุ้ยขยะ คนเก็บของเก่าขาย เป็นต้น แรงงานเหล่านี้มีรายได้ไม่แน่นอน งานไม่มั่นคง ขาดการคุ้มครองและอยู่นอกกรอบกฎหมายแรงงาน (บางครั้งเรียกแรงงานเหล่านี้ว่าเป็นกลุ่มข้าวนอกนา)
5. แรงงานไทยอยู่ในกรอบนอกระบบมากน้อยแค่ไหน
หากแยกแรงงานซึ่งเป็นสมาชิกสำนักงานประกันสังคม 8.9 ล้าน ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจอีก 2 ล้านคนเศษ และแรงงานอิสระประเภทบรรดาศักดิ์ เช่น แพทย์ ทนายความ นักแสดง ผู้เชี่ยวชาญ สาขาอาชีพต่าง ๆ เจ้าของทุน (ที่ดิน, ทุน และสถานประกอบการ) ที่เหลืออาจถูกจัดว่าเป็นแรงงานนอกระบบได้ (หมายเหตุ บางแนวความคิดแรงงานนอกระบบรวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้สูงด้วย)
6. เพราะฉะนั้น ภายใต้กรอบแรงงานนอกระบบของไทย
อาจรวมชาวนาชาวไร่ ผู้ช่วยงานในครอบครัวด้วย อาจรวมได้ หากไม่ใช่เป็นชาวนาประเภทมีนาหลายร้อยไร่ / พันไร่ ไม่ได้ทำเองแต่จ้างคนอื่นทำ เพราะฉะนั้นชาวนา ชาวไร่ ขนาดเล็ก รับจ้างเขาทำ หรือทำแล้วแบ่งผลผลิตให้เจ้าของนา อาจถือเป็นแรงงานอิสระนอกระบบ เพราะมีรายได้น้อย ไม่พอกิน
7. แรงงานนอกระบบอาจเป็นนายทุนหรือเป็นแรงงานที่ร่ำรวยได้
ถูกต้อง เพราะการประกอบอาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย สามารถร่ำรวยได้ อาทิ เจ้าของร้านอาหารชื่อดังค้าขายมานานจนร่ำรวย แต่เขาเรียกตัวเองว่านอกระบบ เพราะอยู่ในซอยเล็ก ๆ ขายข้าวแกงมานาน และไม่คิดจะขยับขยาย ว่าจ้างคนงานเพียงไม่กี่คน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง จะมีสักกี่คนที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จึงยังยากจน ลำบาก หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินยอม เจ็บป่วย แล้วมักจะลำบาก
8. แรงงานนอกระบบ อาทิ คนขับแท็กซี่ คนคุ้ยขยะ เก็บของเก่าขาย เรียกร้องสิทธิให้เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ เป็นไปได้เพียงไร
ต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน แรงงานนอกระบบหากเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระกฎหมายแรงงานไทยยังคลุมถึงไม่หมด เพราะกฎหมายไทยวางกรอบนายจ้าง / ลูกจ้างซึ่งมีความสัมพันธ์ทางด้านการผลิตไว้ชัดแจ้ง จะต้องมีสถานภาพการเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง หากไม่เข้าข่ายก็เอากฎนี้ไปใช้ไม่ได้ แต่ในทางความเป็นจริง สิทธิของแรงงานเหล่านั้นมีเฉกเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ เช่น เขามีสิทธิมีงานทำ / มีรายได้อย่างพอเพียง / มีสิทธิเลือกงาน แต่วิธีการหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้อาจแตกต่างกันออกไป
9. หมายความว่า แรงงานนอกระบบจำเป็นต้องมีกติกา / กฎเกณฑ์หรือกฎหมายพิเศษต่างจากกฎหมายแรงงาน
อาจจะเรียกอย่างนั้นก็ได้ เพราะเขาเป็นกลุ่มพิเศษ ทำงานในฐานะผู้ประกอบอาชีพอิสระเป็นนายของตัวเอง เพราะฉะนั้นการให้การคุ้มครองอาจต้องแตกต่างออกไป เช่น การคุ้มครองไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากมาเฟีย / การได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้ใช้แรงงานอิสระ เช่น การมีทะเบียน หรือออกประกาศนียบัตรรับรองอาชีพ การรับรองสิทธิในการจัดตั้งหรือรวมกลุ่มเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของเขาเอง ซึ่งแตกต่างไปจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์
10. อย่างกรณีคนขับแท็กซี่จะคุ้มครองส่งเสริมเขาได้อย่างไร
การคุ้มครองคนขับแท็กซี่ก็คือดูแลมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องค่าเช่า การจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนหากสอบผ่านเป็นผู้ขับขี่ การสงวนอาชีพโดยป้องกันต่างชาติมิให้แย่งอาชีพ เป็นต้น ในแง่ส่งเสริมก็ได้แก่การให้สินเชื่อผ่อนรถโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ การฝึกอบรมภาษาอังกฤษและการยกย่องหากเป็นคนขับแท็กซี่ซึ่งมีคุณธรรม เป็นต้น
11. แสดงว่าแต่ละกลุ่มจะมีกรอบการคุ้มครองและการส่งเสริมแตกต่างกันไป
จริง ๆ แล้ว ก็เป็นอย่างนั้น เพราะแต่ละอาชีพมีปัญหา / ความต้องการต่างกัน เพราะฉะนั้นแนวทางการคุ้มครองจึงแตกต่างกัน แต่อย่าลืมว่าในหลายโอกาส คนๆ เดียว อาจเป็นทั้งลูกจ้างและผู้ประกอบอาชีพอิสระได้ อาทิ กลางวันรับราชการ กลางคืนขับรถแท็กซี่รับจ้าง เพราะฉะนั้นคนๆ นี้เป็นทั้งแรงงานในระบบ (ข้าราชการ) และนอกระบบ (ในฐานะขับรถแท็กซี่รับจ้าง) เป็นต้น
12. ไม่มีแนวทางหรือรูปแบบที่ใช้ร่วมกันได้หรือคลุมถึงทุกกลุ่มในการส่งเสริมคุ้มครองแรงงานนอกระบบเลยหรือ
มี ปกติเป็นเรื่องรัฐบาลจะต้องดูแล โดยเฉพาะการมีมาตรฐานที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ จะต้องดูแลให้เขามีรายได้ที่ดี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น และที่สำคัญจะต้องช่วยเหลือให้พวกเขามีงานทำต่อเนื่องติดต่อกัน (employability)
13. การส่งเสริมให้มีรายได้ / มีผลผลิตสูง และมีงานทำต่อเนื่อง มีความสำคัญอย่างไร
ทั้ง 3 เรื่อง สามารถปรับใช้กับแรงงานได้ทุกประเภทไม่ว่าในระบบ นอกระบบ แรงงานหากไม่มีรายได้เพิ่ม แต่ราคาสินค้าเพิ่ม แรงงานจะยากจนลง หรือทำงานเท่าเดิมแต่เหนื่อยมากขึ้น หรือใช้คนมากขึ้นแต่ผลผลิตได้เท่าเดิมหรือน้อยลงก็ขาดทุน เพราะฉะนั้นหากจะให้เจริญ ก็ต้องพัฒนาทั้ง 2 อย่าง คือ เพิ่มผลผลิตโดยใช้แรงงานเท่าเดิม แต่งานได้มาก รายได้ก็จะเพิ่มขึ้น ส่วนการมีงานทำต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะลูกจ้างหากไม่มีงานประจำ หรือทำงานต่ำระดับ (ในเรื่องชั่วโมงทำงาน อาทิ ทำเพียงวันละ 2-3 ชั่วโมง) รายได้ก็ต่ำ ไม่พอกิน ส่วนแรงงานนอกระบบ จะมีปัญหาขาดรายได้ เช่น คนขับรถแท็กซี่ไม่มีรถขับ หรือพ่อค้าหาบเร่ถูกไล่ที่ ทำให้การค้าขายต้องหยุดซะงัก แรงงานเหล่านี้มีรายได้ไม่ประจำอยู่แล้วจะอยู่ในฐานะลำบาก
14. มีกิจกรรมใดบ้างที่เป็นของกระทรวงแรงงาน
ปกติการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ เป็นเรื่องของทุกหน่วยงาน นับตั้งแต่สภาพัฒน์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงแรงงาน โดยเริ่มตั้งแต่การมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายในภาครัฐ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายในทุกระดับ รวมถึงระดับรากหญ้า แต่การที่จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานนอกระบบกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จำเป็นต้องแยกแยะ และกำหนดมาตรการเป็นเรื่อง ๆ ไป ในส่วนที่เกี่ยวกับกระทรวงแรงงาน ก็จะเน้นการฝึกอาชีพ / ฝึกทักษะ / การคุ้มครองค่าจ้าง สวัสดิการของแรงงานรับจ้างนอกระบบซึ่งมีอยู่ การฝึกอาชีพ ฝึกทักษะ เป็นกลไกที่ทำให้แรงงานนอกระบบมีโอกาสทำงานได้ยาวขึ้น เพิ่มผลผลิตมากขึ้น อันเป็นลักษณะของการมีงานทำต่อเนื่อง ในทางแรงงานเราเรียกว่า นโยบายแรงงานเชิงรุก (Active Labor Policies)
15. กิจกรรมแรงานจะเน้นด้านใด คุ้มครอง หรือส่งเสริม
ปกติการคุ้มครองเราทำอยู่แล้ว ทั้งแรงงานในระบบ และนอกระบบซึ่งเป็นคนงาน ลูกจ้าง แต่ถ้าจะเน้นการมีรายได้ ผลผลิตสูง และมีงานทำอย่างต่อเนื่องก็ต้องเน้นการพัฒนา ส่งเสริม อย่างเช่น การฝึกอาชีพ / ทักษะดังได้กล่าวมาแล้ว
16. จริงๆ แล้ว แรงงานนอกระบบต้องการอะไร
เขาเรียกร้องให้มีสถานภาพเฉกเช่นแรงงานในระบบ อาทิ การมีรายได้มั่นคง มีหลักประกัน เช่น การคุ้มครองทางสังคม เฉกเช่น ระบบการประกันสังคม แนวคิดนี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจกัน เพราะแรงงานนอกระบบประกอบอาชีพอิสระเป็นนายของตัวเอง ไม่มีนายจ้าง เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ใช่ลูกจ้างซึ่งอาศัยอยู่ได้ด้วยค่าจ้าง หรือรอรับสวัสดิการจากนายจ้าง ดังนั้น การเรียกร้องแม้จะทำได้ แต่ก็ต้องใช้มาตรการหรือวิธีการแตกต่างกันในแก้ไข
17. มาตรการหรือกลไกที่แตกต่างจากกฎหมายแรงงานมีอะไรบ้าง
ก็ต้องดูว่าอะไรที่จะทำให้เขามีรายได้ดี มีความมั่นคง ซึ่งก็คือการมีผลผลิตสูง และการมีงานทำต่อเนื่อง ส่วนวิธีการนั้นก็คือทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงสินเชื่อ ทำอย่างไรไม่ให้รายได้ของเขาถูกบิดเบือน หรือถูกแบ่งออกไปโดยไม่สมเหตุสมผล ทำอย่างไรให้เขามีโอกาสพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เขารู้จักการจัดการบริหารจัดการอาชีพของเขา ซึ่งกลไกหรือสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องแตกต่างไปจากกลไกที่ให้กับลูกจ้าง ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะทำหน้าที่ส่งเสริม พัฒนาแรงงานนอกระบบจะแตกต่างจากกระทรวงแรงงาน อาทิ ธนาคารจำเป็นต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ตำรวจต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
ส่วนบทบาทของกระทรวงแรงงานนั้น ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การดูแลแรงงานรับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งจะมีกฎหมายรองรับเป็น พ.ร.บ. เร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม หากจะดูแลใกล้ชิดและใช้นโยบายเชิงรุกทางด้านแรงงาน ควรปรับแก้ไขกฎหมายหรือออกกฎหมายขึ้นมารองรับเพิ่มเติม เป็นต้น
18. ฟังดูแล้ว มาตรการหรือกลไก สำหรับแรงงานนอกระบบมีลักษณะคล้ายกับการส่งเสริมนักธุรกิจ
เป็นเรื่องและแนวเดียวกัน เพราะเขาทำธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม หวังกำไร หากเขาทำเป็นมีเงินทุนเพียงพอ (เข้าถึงสินเชื่อ) โอกาสที่จะพัฒนาตนเองก็ทำได้สำคัญที่สุด ทำอย่างไรอย่าให้ธุรกิจของเขาหยุดซะงัก เมื่อเขามีรายได้มั่นคง มีงานต่อเนื่อง โอกาสที่เขาจะร่ำรวยมั่นคงเป็นไปได้ เมื่อถึงตอนนั้น เขาจะรู้ว่าจะหาความมั่นคง หรือรูปแบบการคุ้มครองทางสังคมสำหรับตัวเขาได้อย่างไร
19. แต่แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังยากจบ และชีวิตคงต้องลำบากอีกนาน
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสาเหตุของการเรียกร้องระบบการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งระบบดังกล่าวอาจจำเป็นต้องตั้งขึ้นมาใหม่ในรูปสหกรณ์หรือธนาคาร หรือจัดตั้งกองทุนเลี้ยงชีพ (รูปแบบใหม่) โดยเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อให้โอกาสเขาเก็บออมและนำเงินออมไปใช้ประโยชน์และเป็นเงินสำรองในยามชราภาพ
20. แรงงานนอกระบบมีความสำคัญต่อประเทศและเศรษฐกิจอย่างไร
แท้จริงแล้ว แรงงานนอกระบบ รวมทั้งเศรษฐกิจไม่เป็นทางการมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากด้วยเหตุผล
1. เป็นตัวสร้างงานมหาศาล โดยเฉพาะตลาดนี้รองรับแรงงานอพยพ แรงงานส่วนเกินที่เคลื่อนย้ายมาจากชนบท
2. เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ทำให้แรงงานดังกล่าวมีส่วนได้รับผลพวงจากการกระจายรายได้ และนโยบายการใช้จ่ายของรัฐบาล
3. เป็นตัวกันชนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว มีปัญหาการว่างงานหรือปัญหาการทำงานต่ำระดับแพร่หลาย เพราะเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ คนเข้าถึงง่าย แค่มีชุมชนก็ทำมาหากินได้แล้ว