กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงกรณี ลูกจ้างอยู่ในข่ายเป็นผู้ติดหรืออาจจะติดเชื้อไวรัส COVID – 19 นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างที่มีความเสี่ยงนั้นเข้ารับการตรวจจากแพทย์ถือเป็นคำสั่งที่มีเหตุอันสมควร นายจ้างสามารถปฏิบัติได้
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวชี้แจงว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID – 19 ที่ขยายเป็นวงกว้าง มีผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้น กระจายไปในสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้บุคคลที่เดินทางหรือเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ด้วยความห่วงใยของ พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีความต้องการให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิต และสุขภาพอนามัยที่ดี จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสร้างความเข้าใจให้ทราบว่า กรณีที่นายจ้าง มีคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ด้วยเหตุที่ลูกจ้างอยู่ในข่ายเป็นผู้ติดเชื้อหรืออาจจะติดเชื้อไวรัส COVID – 19 เช่น ลูกจ้างสัมผัสกับผู้ป่วยหรือลูกจ้างอยู่ในครอบครัวเดียวกับผู้ป่วย ลูกจ้างอยู่ในสถานที่ปิดกับผู้ป่วยโดยไม่มีการถ่ายเทอากาศนานกว่า 15 นาที ในระยะไม่เกิน 1 เมตร และไม่มีการป้องกันตนเอง หรือเคยไปยังสถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค เป็นต้น ถือว่านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรที่จะมีคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจได้ เพราะหากไม่ดำเนินการอาจเป็นอันตรายและกระทบต่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างคนอื่น หรือกระทบต่อกิจการของนายจ้างได้ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรค
ที่ทางราชการกำหนด ฉะนั้น คำสั่งของนายจ้างดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา ควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 เกี่ยวกับการทำงานที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติเนื่องจากเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผล นายจ้างก็อาจปฏิเสธไม่ให้ลูกจ้างเข้าสถานที่ทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้างให้ หรืออาจลงโทษทางวินัย เช่น ตักเตือนลูกจ้างด้วยวาจาหรือตักเตือนเป็นหนังสือ เป็นต้น
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคที่ทางราชการประกาศกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และการปฏิบัติ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546 หรือหากสงสัยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค โทร 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค
ข่าว : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน