‘กอช.’ กองทุนการออมแห่งชาติ ตัวช่วยสะสมเงินบำนาญของกลุ่ม ‘อาชีพอิสระ’
“กองทุนการออมแห่งชาติ” หรือ “กอช.” เป็นหน่วยงานที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองทุนกลางที่ช่วยสนับสนุนการสะสมเงินเพื่อชีวิตวัยเกษียณของคนไทยที่ประกอบอาชีพอิสระจัดตั้ง ตาม พ.ร.บ. เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนไทยทุกคน เข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐได้อย่างทั่วถึงและสร้างเงินบำนาญโดยสมัครใจ กอช. เปิดรับสมัครสมาชิกครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ภายใต้คอนเซ็ปต์ “คุณออม รัฐช่วยออม คุณได้บำนาญ”
ผู้สมัครจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี มีอาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย รับจ้างทั่วไป ขับรถรับจ้าง เกษตรกร รวมถึงนักเรียนนักศึกษา
- หน้าที่ของ “สมาชิก กอช.”
สมาชิกจะต้องส่งเงินสมทบสะสมขั้นต่ำ 1,200 บาทต่อปี สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี โดยการส่งเงินสมทบแต่ละงวดไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนที่เท่ากัน แต่ไม่ต่ำกว่า 50 บาทต่อครั้ง เช่น เดือนมกราคม ส่งเงินสมทบ 300 บาท เดือนกุมภาพันธ์อาจจะส่งเงินสมทบ 100 บาท เดือนมีนาคมอาจจะส่งเงินสมทบ 200 บาท และเดือนอื่นๆ ต่อเนื่องไปในอัตราที่แตกต่างกัน แต่รวมกันไม่ต่ำกว่า 1,200 บาทต่อปี
- หลักเกณฑ์การสมทบเงินสะสมของ กอช.
การวางแผนเกษียณกับ กอช. คือทุกครั้งที่ส่งเงินสะสม รัฐฯจะช่วยสมทบตามอัตราที่กำหนดในแต่ละช่วงอายุ โดยผู้สมทบเงินเข้ากองทุนมีโอกาสได้รับเงินบำนาญทุกเดือนไปตลอดชีวิต 6xx-7,xxx บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับการสมทบ
- ช่วงอายุระหว่าง 15-30 ปี รัฐช่วยสมทบ 50% ของเงินสะสม สูงสุด 600 บาทต่อปี
- ช่วงอายุ 31-50 ปี รัฐช่วยสมทบ 80% ของเงินสะสม สูงสุด 960 บาทต่อปี
- ช่วงอายุ 51-60 ปี รัฐช่วยสมทบ 100% ของเงินสะสม สูงสุด 1,200 บาทต่อปี
จากข้อมูลที่ กอช. ลองคำนวณที่ผลตอบแทนที่ 3.5% หากส่งเงินสมทบ ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี เต็มจำนวน (13,200 บาทต่อปี) ต่อเนื่องทุกเดือนเป็นเวลา 45 ปี จะมีโอกาสรับเงินบำนาญประมาณ 7,xxx บาทต่อเดือน
ขณะที่คนที่สมทบช่วงโค้งสุดท้าย อายุ 50-60 ปี แต่ส่งเงินสมทบเต็มจำนวน (13,200 บาทต่อปี) ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี จะมีโอกาสรับเงินบำนาญประมาณ 6xx บาทต่อเดือน
ทั้งนี้จากทั้ง 2 กรณียกตัวอย่างมาในข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างการจ่ายเงินบำนาญสูงสุด และต่ำสุดเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงสัดส่วนของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปตามจำนวนเงินที่สมทบ และช่วงอายุที่แตกต่างกันไปนั่นเอง
รัฐจะสมทบเงินให้เฉพาะคนที่สะสมจนครบอายุ 60 ปีเท่านั้น หากนำเงินออกจาก กอช. ก่อนอายุ 60 ปีจะไม่ได้รับเงินสมทบจากรัฐ เนื่องจากรัฐต้องการให้เงินก้อนนี้เป็นเงินบำนาญสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ
เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้ ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดปีละ 13,200 บาท (สำหรับคนที่จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนออมแห่งชาติ) แต่ทั้งนี้เมื่อรวมกับ ค่าซื้อกองรวมเพื่อการเลี้ยง (RMF), กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และเบี้ยประกันแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วย