สบส-สปสช. ย้ำป่วยโควิดรักษาฟรี ทุกสถานพยาบาล

สบส-สปสช. ย้ำป่วยโควิดรักษาฟรี ทุกสถานพยาบาล

สบส-สปสช. ย้ำผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาเอง หากโรงพยาบาลใดเรียกเก็บมีโทษทั้งจำและปรับ

วันที่ 5 พ.ค. 2564 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวันนั้นสร้างความตึงเครียดและวิตกกังวลให้กับประชาชนทั่วประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และยิ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อว่าการเข้ารับการรักษาพยาบาลโควิดในสถานพยาบาลเอกชนนั้นผู้ป่วยจะต้องจ่ายส่วนต่างของค่าห้องพัก ค่าห้องความดันลบ หรือค่ายาเพิ่มหากเกินวงเงินที่รัฐบาลกำหนด

ซึ่งกรม สบส.ขอชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 ฉบับ เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ได้แก่

1.ค่ายา ค่าห้อง เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วย

2.ประกาศเพิ่มเติมในรายการยาให้ครอบคลุมมากขึ้น

3.ค่ารถรับส่งผู้ป่วยจากที่บ้าน ค่าทำความสะอาดรถ ค่ารักษาพยาบาลกรณีการเจ็บป่วยหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากเป็นกรณีต้องได้รับการรักษาทันท่วงที โดยผู้ป่วยโควิด-19 สามารถเข้ารับสิทธิการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิรักษาของตนเอง หรือสถานพยาบาลใดก็ได้ทั้งรัฐและเอกชน

หรือแม้ไม่ได้เป็นผู้ป่วย แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการเข้าข่ายที่จะติดเชื้อโรคโควิด-19 ก็สามารถเดินทางไปตรวจที่สถานพยาบาลใดก็ได้ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จะถูกส่งตัวรักษาตามกระบวนการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นการขอใช้สิทธิเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้เป็นสิทธิของผู้ป่วยหรือญาติที่จะทำความยินยอมตกลงกับสถานพยาบาล

ทั้งนี้ในส่วนของสถานพยาบาลภาคเอกชน จะดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้วทาง สปสช. ก็จะไปเรียกเก็บจากกองทุนต่าง ๆ ในภายหลัง ซึ่งค่าใช้จ่ายจะครอบคลุม ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายา ค่าพาหนะรับส่ง แล้ว

ดังนั้นเมื่อมีประชาชนเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล หน้าที่ของผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องทำ 2 เรื่องคือ

1.ให้การดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัย

2.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช. หากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามมาตรา 66 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาพบกรณีสถานพยาบาลฝ่าฝืนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วย จำนวน 44 เรื่องใน 74 ราย เนื่องจากบางครอบครัวก็เข้าไปรักษาหลายคน ทั้งนี้สถานพยาบาลได้คืนเงินผู้ป่วยครบทั้ง 74 รายแล้ว และยังมีเรื่องคงค้างในเดือน เม.ย. อยู่จำนวนหนึ่ง จะมีการสอบสวนต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนมีข้อสงสัยเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 และสายด่วน สบส. 1426

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ขอยืนยันว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับการตรวจคัดกรองฟรีในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ทั้งในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ ผู้ที่มีความเสี่ยง เข้าไปในสถานที่เสี่ยง หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ ไปจนถึงการตรวจตามดุลยพินิจของแพทย์ และหากติดเชื้อก็จะต้องรักษาฟรีในโรงพยาบาลทุกสังกัด

โดยทางโรงพยาบาลจะมาเรียกเก็บกับ สปสช. ตามอัตราที่มีการตกลงกับสถานพยาบาลทุกสังกัด และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่ง สปสช. ได้เตรียมงบประมาณไว้หมดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากประชาชน