เทคนิคการยื่นภาษี ให้ได้เงินของเราคืน

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร

การเสียภาษีนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคนจริง ๆ ต่อให้มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีแต่ก็จะต้องยื่นภาษีอยู่ดี การยื่นภาษีนั้นเป็นการแสดงรายได้ของเราที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาผ่านมาในปีภาษีและจะยื่นภาษีกันเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคาตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปีเลย และปัจจุบันสามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ถึง 8 เมษายน ของทุกปีแล้ว แต่ว่าบางกรณีก็ต้องยื่นภาษีครึ่งปีและกลางปีก็มี

การยื่นภาษีเงินได้ประจำปี

แบบเข้าใจง่าย ๆ เลยคือเงินได้ทั้งหมดของปีภาษีนี้ เช่น ปี 2564 ตั้งแต่เดือน มกราคม – ธันวาคม รายได้เรามีเท่าไหร่หลังหักค่าใช้จ่ายก็จะต้องทำการยื่นภาษีในช่วงปี 2565 ซึ่งช่วงในการยื่นภาษีก็จะเป็น มกราคา – มีนาคม นั่นเอง ปกติก็ยื่นกันปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะต้องสรุปรายได้และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีภาษีที่ผ่านมา ซึ่งหากมีเงินได้จากเงินเดือนอย่างเดียวจะต้องใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 91 ในการยื่นภาษี แต่ถ้ามีเงินได้จากอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือนด้วยก็จะต้องใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90

การยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีคืออะไร ?

จะแตกต่างจากการยื่นปีละครั้ง สำหรับใครที่จะต้องยื่นภาษีครึ่งปีจะมีช่วงครึ่งปีแรกที่จะต้องยื่น โดยการยื่นภาษีครึ่งปีนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีรายได้ประเภทที่ 5 (ค่าเช่า) ประเภทที่ 6 (รายได้จากการประกอบอาชีพอิสระ) ประเภทที่ 7 (ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ) และประเภทที่ 8 (เงินได้พึงประเมินที่ไม่สามารถจัดให้เข้ากับประเภทที่ 1 – 7 ได้) ซึ่งทั้งหมดรวมกันแล้วเกิน 60,000 บาทเท่านั้นถึงจะยื่นภาษีกลางปี ซึ่งเงินได้ทั้งหมดในครึ่งปีแรกนั้นจะคิดตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน แล้วก็ให้ยื่นภาษีครึ่งปีในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนในปีเดียวกันเลย ซึ่งก็สามารถมีค่าลดหย่อนภาษีได้ปกติเลย หากคิดว่ารายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีแน่ ๆ ก็หาทำอะไรที่เอามาลดหย่อนได้ก็ทำให้เราเสียภาษีน้อยลง แต่พอยื่นภาษีครึ่งปีไปแล้วพอถึงท้ายปีก็ยังคงต้องมีการยื่นภาษีประจำปีอยู่เหมือนเดิม โดยจะต้องสรุปเงินได้ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะครึ่งปีหลัง ก็เอาง่าย ๆ คือยื่น 2 ครั้งนั่นเอง

ทำอย่างไรให้เสียภาษีน้อยลง ?

การยื่นภาษีนั้นทุกคนจะต้องทำ ส่วนใครจะได้เสียไหมนั้นก็ขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคนด้วย สำหรับคนที่วางแผนภาษีแล้วเห็นว่ายังไงก็ต้องได้เสียแน่ ๆ จะทำอย่างไรให้เสียน้อยลงก็จะต้องหาทางลดหย่อนภาษีจากสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมาตรการในการลดหย่อนในแต่ละปีมีอะไรบ้างก็หาดูได้ทั่วไปเลย เช่น การบริจาค การกู้ซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย การบริจาคให้พรรคการมอง การซื้อกองทุนรวม RMF การเสียประกันสังคม การซื้อประกันบางตัวเป็นต้น นอกจากนั้นเราอาจจะได้เงินคืนอีกด้วย หากมีการขอคืนเงินภาษี

การขอคืนเงินภาษี

หลายคนก็คงจะวิ่งวุ่นไม่เบาสำหรับเรื่องของการยื่นภาษีแต่ก็อย่าลืมการขอเงินคืนภาษีด้วย หากเป็นเงินที่เราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไป ซึ่งในการทำงานต่าง ๆ บางงานจะมีการเสียภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้วเรียบร้อย ซึ่งเงินส่วนนี้เราสามารถขอคืนได้ แล้วจะทำอย่างไรให้ได้เงินคืน จะต้องทำการยื่นเรื่องให้ถูกขั้นตอนด้วย ซึ่งเราจะต้องเตรียมให้พร้อมทุกอย่างตามขั้นตอน

ขั้นตอนการขอเงินคืนภาษี

1. การเตรียมเอกสารสำหรับขอเงินคืน จะต้องมีเอกสารดังนี้

  • หนังสือรับรองเงินเดือนและการหักภาษีหรือใบทวิ 50 ที่บริษัทออกให้
  • เอกสารลดหย่อนต่าง ๆ ที่คุณมี เช่น ประกันชีวิต เอกสารรับรองบุตร กองทุนรวม ฯลฯ

2. ทำการยื่นภาษีตามช่องทางที่สะดวก เลือกได้ตามดังนี้

  • การยื่นภาษีด้วยตนเอง ที่กรมสรรพากร โดยเอาเอกสารต่าง ๆ ที่จะแสดงรายได้และเอกสารการลดหย่อน เอกสารการขอเงินคืนภาษีไปด้วย
  • ยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งยื่นได้ในเว็บไซต์ https://epit.rd.go.th/publish/index.php และดาวโหลดแบบฟอร์มเอกสาร
  • ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการในการยื่นภาษี

หลังจากการยื่นภาษีและขอเงินคืนภาษีแล้ว เราก็จะต้องรอให้เจ้าหน้าที่ทำตามขั้นตอนเพื่อคืนเงินให้กับเรา ซึ่งทางกรรมสรรพากรจะตรวจสอบและอนุมัติเงินคืนภาษีให้และคืนให้ตามช่องทางที่เราเลือก ว่าจะรับเงินคืนช่องทางไหน หากทางสรรพากรจ่ายคืนเงินให้ช้าเรามีสุทธิได้รับเงินคืนภาษีพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือนจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน โดยจะมีการคำนวณดอกเบี้ยในเดือนที่ 4 เป็นต้นไป

ช่องทางในการรับเงินคืนภาษีมีอะไรบ้าง ?

เราจะได้รับเงินคืนตามช่องทางที่แจ้งแก่ทางสรรพากร ซึ่งจะมีทั้งหมด 2 ช่องทาง คือ พร้อมเพย์ และรับเงินคืนภาษีเข้าธนาคารกรุงไทย หรือระบบการคืนเงินภาษีเข้าบัตร e-Money/e-Wallet เฉพาะธนาคารกรุงไทยเท่านั้น ซึ่งช่องทางที่จะได้รับเงินคืนภาษีเร็วสุดนั้นให้เลือกรับเงินผ่านทางพร้อมเพย์แล้วทำการผูกบัญชีเข้ากับบัตรประจำตัวประชาชนก่อนยื่นภาษี ซึ่งเงินเข้าเร็วมากไม่เกิน 1 วันก็ได้แล้ว แต่ถ้าเลือกรับเงินช่องทางอื่นอาจต้องรอ 30 วันเลย หลังจากการยื่นภาษีและขอเงินคืนภาษีกับทางกรมสรรพากรแล้วอยากจะรู้สถานนะก็สามารถตรวจสอบได้เองผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากรเลย โดยกรอกแค่ชื่อ นามสกุลตัวเอง แบบไม่ต้องมีคำนำหน้า กรอกเลขบัตรประชาชน เราจะเห็นสถานะเงินคืนภาษีในนั้นเลย

หมดเวลายื่นภาษีแล้วยื่นขอเงินคืนภาษีได้ไหม ?

ในกรณีของการยื่นภาษีไปเสร็จเรียบร้อยแล้วตามหน้าที่ แต่ก็ยังไม่ได้ยื่นขอเงินคืนภาษีอาจจะลืมหรือเหตุผลอะไรก็ตาม หรือจ่ายภาษีเกินไว้ จะต้องรีบทำการขอคืนเงินภาษีภายในระยะเวลา 3 ปี นับจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดยื่นภาษี พอเราทำการยื่นเรื่องขอเงินคืนแล้วทางกรมสรรพากรมีหน้าที่จะต้องคืนเงินภาษีให้ภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ยื่นหรือวันที่ยื่นเอกสารประกอบเพิ่มเติม

หากไม่ยื่นภาษีจะได้ไหม ?

ยังคงต้องยืนยันอีกครั้งว่าการยื่นภาษีและการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่ถ้าหากไม่ยื่นภาษีก็ได้ หากคุณอยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้

  1. มีรายได้จากเงินเดือนอย่างเดียวตลอดปีได้ไม่เกิน 120,000 บาท เฉลี่ยตกเดือนละ 10,000 บาท
  2. มีรายได้ทางอื่นตลอดปีไม่ถึง 60,000 บาท หรือเดือนละ 5,000 บาท
  3. สมรสแล้วตามกฎหมายแต่รายได้รวมกัน 2 คนตลอดปีไม่เกิน 220,000 บาทหรือเดือนละ 18,333.33 บาท
  4. สมรสตามกฎหมายแล้วแต่รายได้รวมกันทั้งปีไม่เกิน 120,000 หรือตกเดือนละ 10,000 บาท
  5. มีรายได้จากดอกเบี้ยธนาคาร ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยพันธบัตร ส่วนต่าง discount bond, มีกำไรจากการขายตราสารหนี้ เงินปันผลของบริษัทแล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายเลย
  6. รายได้จากเงินปันผลจากกองทุนรวมแล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไปเลย
  7. รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือมีคนให้มา แล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้าย
  8. รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางอื่นที่ไม่ได้มุ่งหากำไร แล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้าย